ส่องวิสัยทัศน์เจ้าสัวซีพีกับการสร้างคน


ครอบครัวมีลูกหลานเพื่อสืบทอดวงศ์ตระกูล องค์กรก็ย่อมมีบุคลากรรุ่นใหม่ ๆ มาทดแทนคนรุ่นเก่า ๆ เช่นกัน และความเป็นเลิศขององค์กรขึ้นอยู่กับบุคลากร ดังนั้น หลาย ๆ องค์กรจึงทุ่มเทการลงทุนส่วนหนึ่งไปกับการพัฒนาบุคลากร เพื่อมาช่วยเสริมสร้างความเป็นเลิศให้กับองค์กร

เครือเจริญโภคภัณฑ์ เป็นหนึ่งองค์กรที่ให้ความสำคัญอย่างมากกับการพัฒนาคน จนอาจเรียกได้ว่าเป็นแหล่งผลิตทุนมนุษย์ที่ไม่แพ้องค์กรใหญ่อื่น ๆ โดยประธานอาวุโสเครือซีพี คุณธนินท์ เจียรวนนท์ มีความเชื่อว่า คนคือทรัพยากรที่มีคุณค่า และสามารถถ่ายทอด ต่อยอด และแผ่ขยายคุณค่าได้

ดังนั้นไม่ว่าจะไปเวทีไหน คุณธนินท์จึงมักกล่าวถึงบุคลากรของเครือฯ และความตั้งใจในการพัฒนาบุคลากรให้สามารถไปถ่ายทอดคุณค่าให้กับสังคม และประเทศชาติ ซึ่งความตั้งใจจริงนี้เห็นได้จากการทุ่มงบประมาณในการก่อสร้างสถาบันพัฒนาผู้นำ เครือเจริญโภคภัณฑ์ ซึ่งไม่ได้ยิ่งใหญ่เฉพาะตัวโครงสร้างเท่านั้น แต่เนื้อในก็ยิ่งใหญ่ไม่แพ้กัน ทั้งในด้านของแรงบันดาลใจ ผู้สอน และหลักสูตรที่สอน

นอกจากคุณธนินท์จะมีแนวคิดในการสร้างคนเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ยังได้รับแรงบันดาลใจ จากการที่ได้มีโอกาสไปเห็นการสร้างคนอย่างประสบความสำเร็จของบริษัท General Electric หรือ GE ในช่วงที่แจ็ค เวลท์ (Jack Welch) เป็นผู้นำองค์กร หลังจากนั้นจึงได้พยายามศึกษาหาข้อมูล และเรียนรู้เกี่ยวกัยวิธีการสร้างคน สร้างผู้นำ จากองค์กรชั้นนำระดับโลกอื่น ๆ อย่างซัมซุงและโบอิ้ง

เมื่อถึงเวลาต้องออกแบบหลักสูตรสำหรับการพัฒนาผู้นำของเครือฯ จึงได้เชิญ ดร.โนเอล เอ็ม. ทิชี่ (Dr. Noel M. Tichy) อาจารย์จาก Ross School of Business มหาวิทยาลัยมิชิแกน สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง สถาบันผู้นำ GE มาร่วมวางหลักสูตรเข้มข้นให้กับสถาบันเครือฯ





สำหรับความคิดในเรื่องของการพัฒนาคนนั้น คุณธนินท์ เคยเปิดใจไว้ว่า “ผมเคยพูดว่า คนทั้งโลกเป็นของซีพี ทุกอย่างในโลกนี้เป็นของซีพี ก็มีคนเข้าใจผิด เอาไปตีความหมายผิด ๆ จริง ๆ แล้วผมหมายความว่า ถ้าเราไม่มีคนไปพัฒนา ไปจัดซื้อ ไปขาย จะมีประโยชน์อะไร เราจะขายของให้ทั่วโลกได้อย่างไร วัตถุดิบจะมาได้อย่างไร หรือถ้าเราไม่สร้างคน ไม่ทำให้ทั่วโลกเห็นว่าคนสำคัญที่สุด อย่างอื่นจะมาได้อย่างไร เราจึงต้องใช้คนเก่ง มืออาชีพ มาช่วยทำงาน มาช่วยกันพัฒนา เพราะถ้าเราไม่มีคนที่มีความสามารถ หรือถ้าเราไม่พัฒนาคนให้เป็นที่เชื่อถือ ใครจะเอาเงินมาให้เรา ไม่ใช่เงินลอยมาหาเราเองได้ นั่นก็คือ ถ้าเราไม่มีคนเก่งไปทำประโยชน์ให้เขา ก็ไม่มีใครต้องการเรา และถ้าเราไม่มีคนเก่งมาพัฒนาองค์กร ก็เป็นปัญหาขององค์กร จะไปลงทุนอะไรที่ไหน ก็ผิดพลาด ดังนั้น องค์กรจะเจริญหรือล้มละลาย ก็เพราะคน”

เจ้าสัวซีพียังบอกว่า ตนเองได้รับโอกาสจากพ่อและพี่ชาย จึงมีวันนี้ได้ และไม่เคยลืมพระคุณผู้ที่ให้โอกาสตน ไม่ว่าจะเป็นคนในครอบครัว ประเทศชาติ พระมหากษัตริย์ หรือแม้แต่พนักงาน ดังนั้น เจ้าสัวจึงมักให้โอกาสเพื่อนร่วมงานอยู่เสมอ และย้ำในเรื่องของการให้โอกาสคนด้วยว่า

“ถ้าเราจะยิ่งใหญ่ไปถึงระดับโลก เราก็ต้องหาคนเก่งในโลก เชิญมาร่วมมือกัน ถ้าจะยิ่งใหญ่ ยิ่งต้องเปิดใจกัน ผนึกกำลังกัน แสวงหาคนที่มีความรู้ ความสามารถ มาช่วยกันพัฒนา และเราต้องช่วยกันส่งเสริมและพัฒนาคนไทยให้เก่ง ๆ เพื่อให้ออกไปทำงานระดับโลกด้วย ที่บอกว่า
คนเก่งทั้งโลกเป็นของซีพี ก็อยากให้มองว่า ให้รู้จักให้โอกาสความเก่งของผู้อื่น อย่างซีพีไปร่วมทุนที่ประเทศไหน ก็เปิดโอกาสให้คนเก่งของประเทศนั้น ๆ บริหารด้วย ไม่ใช่เราเอามาทำเองหมด เราต้องมองคนทั้งโลกเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณค่า”

ได้เห็นมุมองในเรื่อง “คน” ของเจ้าสัวซีพี ก็เข้าใจแล้วว่า ทำไมจึงเห็นว่าทุนมนุษย์นั้นสำคัญที่สุด และคำกล่าวที่ว่า ซีพีเป็นแหล่งผลิตทุนมนุษย์ที่สำคัญ จึงไม่แปลกใจด้วยว่า ทำไมซีพีถึงเจริญก้าวหน้าสมชื่อมาตลอดเกือบร้อยปีเช่นนี้ได้

คนเป็นตัวจักรฟันเฟืองที่สำคัญในการขับเคลื่อนองค์กร อนาคตขององค์กรจะไปรอดหรือจะไปร่วง ก็ขึ้นอยู่กับนโยบายและกลยุทธ์ในการพัฒนาคนขององค์กร ส่วนคนจะเลือกอยู่กับองค์กรไหน คงต้องดูแนวโน้มว่าจะเจริญก้าวหน้าหรือมีทีท่าว่าจะเดินถอยหลัง สิ่งหนึ่งที่บอกได้ก็คือ วิสัยทัศน์ในเรื่องคนของผู้บริหารองค์กรนั้น ๆ นั่นเอง

-------------------

Comments